2023-08-16 By

โครงการ Industrial Pharmacy Internship Challenge 2023 (IPIC 2023)

1. หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์สาขาเภสัชกรรมอุตสาหการที่ฝึกปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมยา ตามหลักสูตรจะต้องฝึกปฏิบัติงาน 7 ผลัด โดยหลักสูตรหวังผลให้ผู้ฝึกปฏิบัติงานสามารถนำองค์ความรู้จากการศึกษาในสถาบันมาประยุกต์ใช้งานได้ และหลังจากจบการฝึกปฏิบัติงาน สามารถนำความรู้ ประสบการณ์ และทักษะที่ได้จากการฝึกปฏิบัติงานไปใช้ปฏิบัติจริงในงานเภสัชกรรมอุตสาหการ และศึกษาเรียนรู้การทำงานร่วมกับสาขาวิชาชีพอื่น เรียนรู้การแก้ปัญหาจากการปฏิบัติงาน และเพื่อให้การฝึกปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สอดคล้องกับประกาศสภาเภสัชกรรมที่ประเมินทักษะทางวิชาชีพผ่านการฝึกปฏิบัติงานเฉพาะทาง ( Pharmacy License Examination - Industrial Pharmacy 2 ; PLE-IP2 ) ของนิสิต นักศึกษาเภสัชศาสตร์สาขาเภสัชกรรมอุตสาหการปีที่ 6 ในการสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม อย่างไรก็ตามรูปแบบและลักษณะการฝึกปฏิบัติงานในแต่ละโรงงานอาจมีความแตกต่างกันเนื่องจากแต่ละโรงงานมีผลิตภัณฑ์และรูปแบบการทำงานที่ต่างกันจึงส่งผลให้หลังจากฝึกปฏิบัติงานเสร็จสิ้น ผู้ฝึกปฏิบัติงานแต่ละสถานที่จึงมีทักษะความรู้ที่ต่างกัน การแบ่งปันความรู้จากการฝึกปฏิบัติงาน ก็จะทำให้นิสิตนักศึกษาได้รับความรู้ที่หลากหลาย

2. วัตถุประสงค์
    2.1 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ฝึกปฏิบัติงานได้แสดงศักยภาพในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านเภสัชกรรมอุตสาหการ
    2.2 เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างแหล่งฝึก นิสิตนักศึกษา และสถานศึกษา เพื่อเสริมสร้างให้เกิดการพัฒนางานจากการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพด้านเภสัชกรรมอุตสาหการ
    2.3 เพื่อยกย่อง เชิดชูแหล่งฝึกที่ได้ให้การสนับสนุนและเปิดโอกาสในการร่วมสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพเข้าสู่วงการเภสัชกรรมอุตสาหการต่อไป

3. หน่วยงานที่รับผิดชอบ สมาคมเภสัชกรอุตสาหการ (ประเทศไทย)
4. ระยะเวลาดำเนินการ  สิงหาคม 2566 ถึง มกราคม 2567
5. สถานที่ดำเนินงาน  สำนักงานสมาคมเภสัชกรอุตสาหการ (ประเทศไทย)
6. กลุ่มเป้าหมาย 
    6.1 สมาชิกสมาคมฯ ประเภทนิสิตนักศึกษา
    6.2 อาจารย์แหล่งฝึกที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ
7. ผลที่คาดว่าจะได้รับ 
    7.1 นิสิตนักศึกษาได้ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์การทำงาน การแก้ปัญหา และมีความเข้าใจบทบาท ของเภสัชกรอุตสาหการ 
    7.2 แหล่งฝึกสามารถพัฒนางาน สร้างสรรค์งาน หรือได้งานที่บรรลุตามความต้องการของแหล่งฝึก
8. วิธีดำเนินโครงการ 
    8.1 ประชาสัมพันธ์โครงการกับอาจารย์สถาบันการศึกษา นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ สาขาเภสัชกรรมอุตสาหการที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ และอาจารย์แหล่งฝึกที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ และประกาศรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ 
    8.2 ชี้แจงรูปแบบโครงการ รูปแบบเอกสารข้อมูลที่ต้องส่งประกวด รูปแบบการนำเสนอ เกณฑ์การตัดสิน และรางวัลผู้เข้าประกวด
    8.3 จัดการแข่งขันในรูปแบบนำเสนอผลงาน (Pitching) ภายใต้ชื่องาน Industrial Pharmacy Internship Challenge 2023 (IPIC 2023)
    8.4 สรุปผลโครงการ

9. กำหนดการโครงการ
    15 สิงหาคม – 31 มกราคม 2567
     ประชาสัมพันธ์โครงการ กับสถาบันการศึกษา แหล่งฝึกและนิสิตนักศึกษาที่ฝึกปฏิบัติงาน

    15 สิงหาคม 2566 – 31 มกราคม 2567
    รับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ (สมาชิกของ สมาคมทั้ง อาจารย์แหล่งฝึกและ นิสิตนักศึกษา) แต่ละแหล่งฝึกสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้มากกว่า 1 โครงการ

    ภายใน 31 มกราคม 2567
    แหล่งฝึกส่งโครงการฉบับเต็มเข้าร่วมประกวดรอบคัดเลือก

    1-15 กุมภาพันธ์ 2567
    คณะอนุกรรมการตัดสินโครงการ Industrial Pharmacy Internship Challenge 2023 จัดรวบรวมข้อมูลของผู้ร่วมโครงการ เพื่อคัดเลือกโครงการที่จะเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ

    มีนาคม 2567
    จัดการแข่งขันในรูปแบบ Pitching ในรูปแบบทีม โดย 1 ทีมประกอบด้วย นักศึกษา 1-4 คน อาจารย์จากแหล่งฝึก 1-2 คน โดยจัดงานภายใต้ชื่อ Industrial Pharmacy Internship Challenge 2023 (IPIC 2023) มอบรางวัลแก่นิสิต นักศึกษาและอาจารย์แหล่งฝึก

    หลังวันที่ มีนาคม 2567
    สรุปผลโครงการ

ดาวน์โหลดเอกสาร